ขอบคุณที่มาข้อมูล : https://www.dogfai.com/post/ประวัติการปลูกฝ้ายเมืองเลย
ฝ้ายมีความผูกพันกับมนุษย์มาช้านานเพราะเป็นวัตถุดิบในการผลิตปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตคือ เครื่องนุ่งห่ม การปลูกฝ้ายในเมืองเลยจึงมีมาแต่ปู่ย่าตาทวด ในช่วงปี 2520 รัฐบาลได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกฝ้ายเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเลย และเป็นที่นิยมจนเป็นพืชไร่ที่ทำรายได้สูงสุดของจังหวัด
ความเป็นมางาน “ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย และงานกาชาดจังหวัดเลย”
กิจกรรมที่ส่งเสริมชื่อเสียงให้กับฝ้ายเมืองเลยคือ งาน “ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย” เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2523 ในสมัยนายวิชิต ลักษณสมพงษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้ชื่องานว่า “ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย และงานกาชาดจังหวัดเลย” โดยงานมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2523 โดยจัดขึ้นที่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอเมืองเลยเก่า ติดกับศาลาเทศบาลเมืองเลยในสวนสาธารณะกุดป่อง
งานครั้งนั้นเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การปลูกฝ้ายในฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเลย เพราะทำรายได้ให้จังหวัดเลยเป็นอันดับหนึ่งเลย เป็นจังหวัดเดียวของประเทศที่ปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ 1 ในสมัยนั้น และเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของจังหวัดเลยในด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย คือ ภูกระดึง ภูเรือ ภูหลวง ควบคู่กับการส่งเสริมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในชนบทที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ท่องเที่ยวพักผ่อน รื่นเริงสนุกสนาน
ชมภาพงานกาชาดดอกฝ้ายบานสืบสานวัฒนธรรมไทเลย ประจำปี 2564
เปลี่ยนชื่องานจากชื่อเดิมเป็น “งานกาชาดดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย”ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531
โดยในช่วงฤดูหนาวถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมกับการจัดงานมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น และฝ้ายกำลังออกดอกขาวบานสะพรั่งไปทั่วจังหวัดเลย แต่เนื่องจากปัญหาการใช้ยาปราบศัตรูพืชของฝ้ายอย่างหนัก ทำให้ความนิยมในการปลูกฝ้ายลดน้อยลง เกษตรกรหันไปสนใจปลูกมะขามหวาน ข้าวโพด มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา อ้อยและมันสัมปะหลัง ซึ่งมะขามหวานได้เข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจแทนฝ้าย ในสมัยนายชีวิน สุทธิสุวรรณ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการในครั้งนั้นผลักดันให้นำชื่อมะขามหวานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชื่องาน นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนชื่องาน จากชื่อเดิมเป็น “งานกาชาดดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 มาจนถึงปัจจุบัน โดยจัดต่อมาเป็นประจำทุกปี ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดเลย มีการแสดงศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
ประมวลภาพงานกาชาดดอกฝ้ายบานสืบสานวัฒนธรรมไทเลย ประจำปี 2564
พันธุ์ฝ้ายพื้นเมืองของจังหวัดเลย
พันธุ์ฝ้ายที่นิยมปลูกในเมืองเลยในช่วงปี พ.ศ. 2520 เป็นพันธุ์ฝ้ายเศรษฐกิจที่รัฐบาลนำมาส่งเสริม แต่หลังจากความนิยมปลูกฝ้ายเสื่อมถอยลงในช่วงปี 2530 เพราะปัญหาการใช้ยาปราบศัตรูพืช การปลูกฝ้ายเป็นเพียงกิจกรรมเสริมที่ปลูกกันตามหัวไร่ปลายนาเพียงเพื่อให้มีฝ้ายมาใช้ทอผ้าเพื่อสวมใส่ในครัวเรือน และเป็นฝ้ายพื้นเมืองที่มีความต้านทานแมลงศัตรูพืช โดยมีอยู่เพียง 4 สายพันธุ์ ได้แก่
- ฝ้ายตุ่ยน้อย
- ฝ้ายตุ่ยใหญ่
- ฝ้ายขาวน้อย
- ฝ้ายขาวใหญ่
ฝ้ายตุ่ย หรือ ฝ้ายกระตุ่ย เป็นฝ้ายพันธุ์พื้นบ้านที่ให้สีน้ำตาลอ่อนโดยธรรมชาติ มีความนุ่มกว่า ดอกจะใหญ่เดิมทุกบ้านจะปลูกไว้วิถีเดิมเมืองเลยหนาวมาก ทุกคนต้องมีต้นฝ้าย เพื่อเอามาทำผ้าห่ม ผ้านวม และใช้ในชีวิตประจำวัน
ฝ้ายตุ่ยจะนุ่มกว่า จะดอกใหญ่ สีเข้มกว่า และเป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่เก็บปลูกปีต่อปี มาสืบทอดมาแต่ปู่ย่าตายายไม่สูญหาย ผู้เฒ่าผู้แก่ต้องปลูกไว้ เพราะต้องใช้ฝ้ายผูกแขนเป็นวิถีของไทเลย ต้องมีตั้งแต่เกิดจนตาย และวิถีฝ้ายผูกพันกันมา