มัดหมี่ (Mudmee) หมายถึง กรรมวิธีในการทอผ้าอย่างหนึ่ง เอาเชือกมัดด้ายหรือไหมเป็นเปลาะๆ ตามลายแล้วย้อมสี เมื่อนำเส้นด้ายเหล่านั้นมาทอแล้วจะได้ลวดลายต่างๆตามที่มัดไว้ เรียกผ้าที่ทอด้วยกรรมวิธีเช่นนี้ว่า ผ้ามัดหมี่
ผ้ามัดหมี่ เป็นวิธีการมัดย้อมและทอที่เก่าแก่มาก ปรากฏและรู้จักโดยทั่วไปในปรเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ในประเทศไทยมัดหมี่เป็นเทคนิคที่นิยมทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดรวมไปถึงภาคใต้โดยเฉพาะที่จังหวัดปัตตานี รวมไปถึงกลุ่มที่อาศัยอยู่ในอำเภอน้ำปาดและอำเภอฟากท่าของจังหวัดอุตรดิตถ์ การทำลวดลายมัดหมี่มีความซับซ้อนมากขึ้นเป็นพิเศษในกลุ่มชนที่อยู่ติดกับดินแดนประเทศกัมพูชาและชาวไทครั่งที่นิยมทอทั้งมัดหมี่ จก และขิด อีกทั้งมัดหมี่เส้นยืนยังปรากฏในผ้าซิ่นของชาวลัวะซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ
มัดหมี่ เป็นวิธีการสร้างลวดลายจากการย้อมสีเส้นฝ้ายหรือไหมก่อนนำไปทอ โดยวางแผนออกแบบลายแล้วจึงมัดและย้อมทำลวดลายด้วยวิธีการใช้เชือกกล้วยหรือเชือกฟางมัดเส้นด้ายบริเวณที่ไม่ต้องการย้อมสี เพื่อให้เป็นไปตามลวดลายที่ต้องการก่อนที่จะนำไปย้อมและทอ วิธีการ “มัด” เส้นด้ายที่เรียกว่า “หมี่” จึงเรียกวิธีการนี้ว่า มัดหมี่ ผ้าที่ทอขึ้นจึงเรียกว่า ผ้ามัดหมี่ ไปด้วย วิธีย้อมเริ่มต้นย้อมจากสีอ่อนไปหาสีเข้มจนครบตามลวดลายที่กำหนดเเละต้องทำซ้ำหลายครั้งถ้าต้องการให้มีหลายสีบนผ้าแล้วจึงนำไปทอลายขัดธรรมดาใช้สองตะกอ หากต้องการให้ผ้าทั้งสองด้านมีลายเหมือนกันหรือทอลายสองให้ใช้สามตะกอ ซึ่งผ้าด้านหนึ่งจะปรากฎลายชัดเจนกว่าอีกด้าน ผ้ามัดหมี่มีเนื้อผ้าแน่นและเรียบกว่าผ้าทอลายขิดและจก เอกลักษณ์ของผ้าที่ทอด้วยวิธีนี้ คือ รอยซึมของสีตามบริเวณที่ถูกมัดและการเหลื่อมล้ำในตำแหน่งของเส้นด้ายในขณะที่ทอทำให้ลายที่เกิดขึ้นบนผืนผ้าไม่ชัดนัก
ในประเทศไทยจะพบผ้ามัดหมี่แทบทุกจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคอื่น ๆ มักพบแถวภาคกลางแถบจังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี และยังพบในกลุ่มชนในจังหวัดน่านก็ใช้วิธีการมัดหมี่สำหรับผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งเรียกวิธีการดังกล่าวว่า มัดก่านหรือคาดก่าน ลวดลายที่ปรากฏบนผ้ามัดหมี่ส่วนใหญ่เป็นลายที่เกิดจากความประทับใจในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พืช ดอกไม้ สัตว์ เครื่องใช้ สิ่งก่อสร้าง และลายเบ็ดเตล็ด นอกจากนี้ยังพัฒนาลายใหม่ ๆ ขึ้นได้จากการออกแบบลายที่มัดย้อม ลวดลายของผ้ามัดหมี่จึงมีอยู่มากมาย ลายโบราณที่นิยมในผ้ามัดหมี่มากที่สุดคือ ลายหมี่นาค ซึ่งมาจากความเชื่อว่านาคเป็นเจ้าแห่งงู ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลนำความสมบูรณ์มาให้ชาวโลกจึงทอขึ้นเพื่อถวายพระในเทศกาลบุญต่าง ๆ เป็นต้น ผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีและปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์และวรรณคดีของไทยนั้น ได้แก่ ผ้าปูม ซึ่งเป็นผ้าที่มีบทบาทมากในราชสำนักไทยสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น